วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทำไมเราจึงรู้สึกว่า "เราเป็นเรา" ? ความรู้สึกแห่ง "อัตตา"


เราเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า "ทำไมเราจึงรู้สึกว่าเราเป็นเรา" ? ความรู้สึกเช่นนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ? เพราะอะไร ?

ก่อนอื่นเราควรมาทำความรู้จักกันก่อนว่าเรารู้สึกว่าอะไรคือเรา เรารู้สึกว่าร่างกายนี้เป้นของเรา มันเป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ตามที่เราต้องการ อยากเดินไปไหนมาไหนก็ได้ กินอาหารได้ วิ่งได้ นอนได้ นั่งได้ กระโดดได้ ทำงานได้ ฯลฯ เราต้องการให้ร่างกายนี้ทำอะไรก็สามารถทำได้อย่างที่ใจเราต้องการตามศักยภาพทางร่างกายที่เรามี เพราะเรารู้สึกว่าเราสามารถควบคุมร่างกายนี้ได้เราจึงรู้สึกว่านี่คือเรา นี่เป็นการสรุปแบบง่ายๆตามความรู้สึกของตนเอง

ทีนี้มาดูในส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกายกันบ้าง เราไม่ได้รู้สึกเพียงแต่ว่าร่างกายนี้เป็นของเราเท่านั้น แต่เรายังรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเราว่าเป็นของเราด้วย เช่น นี่เสื้อผ้าของเรา รองเท้าของเรา บ้านของเรา รถของเรา ทรัพย์สมบัติของเรา ฯลฯ ความรู้สึกเหล่านี้คงขึ้นอยู่กับขอบเขตของความรู้สึกว่าเราสามารถควบคุมได้ มันรวมไปถึงบุคคลที่รายล้อมเราอยู่ เพื่อนของเรา ญาติของเรา บริวารของเรา ฯลฯ บริบททางสังคมที่ถูกสมมุติขึ้น หน้าที่รับผิดชอบ ความสัมพันธ์อันเป็นส่วนที่เรามี บทบาทบางอย่างในการควบคุมหรือบังคับบัญชาทั้งทางตรงและทางอ้อม

ความรู้สึกว่าเราเป็นเรานี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราปกป้องดูแลรักษา อันเป็นไปเพื่อการดำรงอยู่ เพื่อให้ชีวิตทางกายภาพดำรงอยู่ เพื่อให้เผ่าพันธุ์ดำรงอยู่ ซึ่งเป็นลักษณ์ที่เป็นการต่อต้านธรรมชาติของความเกิดดับแห่งชีวิต คนเรามีความพยายามมาเป็นหมื่นปีในการเอาชนะความตาย ศาสนาและแนวคิดทางด้านจิตวิญญาณล้วนแต่ก่อกำเนิดมาจากความกลัวของมนุษย์ที่ต้องการรักษาความดำรงอยู่ของอัตภาพ

แม้ว่าในโลกนี้มีศาสนาอยู่มากมาย ซึ่งมีคำสอนที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไป แต่แทบไม่มีศาสนาหรือลัทธิใดเลยที่ไม่กล่าวถึงเรื่องของความตาย ทุกศาสนาที่ผู้เขียนรู้จักล้วนมีคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องของความตาย แม้ความเชื่อนั้นจะมีส่วนของรายละเอียดแตกต่างกันออกไป แสดงให้เห็นได้ว่ามนุษย์มีความพยายามในการหาคำตอบของการดำรงอยู่ โดยไม่ต้องสูญเสียอัตภาพบางอย่าง

ความสามารถในการควบคุมครอบครองทำให้เรารู้สึกเป็นสุข ความไม่สามารถควบคุมครอบครองทำให้เราเป็นทุกข์ คนเราปฏิเสธความทุกข์และต้องการความสุข จึงพยายามในการค้นหาทางออกในความอยู่รอดของอัตภาพ

คำสอนทางพระพุทธศาสนาให้คำตอบของต้นเหตุของความสุขทุกข์ของคนเราไว้ว่า "ขึ้นอยู่กับความรู้สึกแห่งความมีอัตตา" ยิ่งมีความรู้สึกในความเป็นเจ้าของมากยิ่งทุกมาก เพราะสิ่งที่เราคิดว่าเป็นของเราอยู่ในอำนาจของเราแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นสิ่งที่มั่นคงถาวรตามที่ใจเราปรารถนา สุดท้ายเราไม่สามารถควบคุมสิ่งใดได้เลย เพราะการเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆมาพร้อมกับการเสื่อมสลายในเวลาเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงหากมองให้เห็นอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่าการเกิดขึ้นของสิ่งหนึ่งเป็นการดับสลายลงของอีกสิ่งหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดสิ่งที่ไม่จิรังยั่งยื่น สิ่งที่มีความยั่งยืนย่อมไม่มีความเปลี่ยนแปลง

ทุกสิ่งที่มนุษย์สามารถรู้จักและสามารถสัมผัสได้ทั้งภายนอกและภายในล้วนมีความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงมีเพียงสิ่งที่เรียกว่า "นิพพาน" ซึ่งเป็นสมมุติสัจจะ ภาวะแห่งนิพพานนั้นอยู่เหนือสมมุติ เราจะสามารถเข้าถึงหรือสัมผัสกับสิ่งที่อยู่เหนือสมมุติได้ก็ต่อเมื่อมองเห็นสิ่งต่างๆไปตามความเป็นจริงไม่มีความคิดปรุงแต่ง ความคิดปรุงแต่งเป็นสิ่งที่ครอบเราไว้ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า "นิพพาน"

ความรู้สึกว่า "เรา" เป็นสิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้บุคคลได้เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า "นิพพาน" การมองไม่เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงคือสิ่งที่ทำให้บุคคลรู้สึกถึงความเป็นเราซึ่งหมายถึง "อัตตา"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น